ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation)



ภาวะเงินเฟ้อคืออะไร?

หลายคนเมื่อได้ยินคำว่าเงินเฟ้อ อาจจะสงสัยว่าเงินเฟ้อคืออะไร แล้วเมื่อไรถึงจะเรียกว่าเกิดภาวะเงินเฟ้อ คำว่าภาวะเงินเฟ้อ หมายถึง ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปในระบบเศรษฐกิจสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งก็จะมีผลทำให้ค่าของเงินที่เราถืออยู่ลดลง ตัวอย่างของค่าของเงินที่ลดลงเช่น ราคาน้ำมันเคยอยู่ที่ 14 บาทต่อลิตร สมมติเราเคยเติมน้ำมัน 10 ลิตร ก็จะใช้เงิน 140 บาท แต่ปัจจุบัน ราคาน้ำมันได้กลายเป็น 28 บาทต่อลิตร หากเราใช้เงินเท่าเดิมคือ 140 บาท เราจะเติมน้ำมันได้เพียง 5 ลิตร ไม่ใช่ 10 ลิตรแบบที่เคยเติมได้ ซึ่งหากต้องการที่จะเติมน้ำมัน 10 ลิตร เท่าเดิม แปลว่าเราต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นเป็น 280 บาท หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ การเกิดภาวะเงินเฟ้อ จะทำให้เงินจำนวนเท่าเดิมที่เราถืออยู่มีค่าลดลง ทำให้ซื้อของได้น้อยลง
 ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อราคาน้ำมันแพงขึ้นแบบนี้ ต้นทุนในการขนส่งสินค้าจากแหล่งผลิตที่จะส่งไปขายยังที่ต่าง ๆ ก็ย่อมต้องสูงขึ้น และทำให้ราคาสินค้าชนิดอื่นๆ ต้องขึ้นราคาตามไปด้วย แต่การที่มีสินค้าแค่ชนิดใดชนิดหนึ่งแพงขึ้น จะยังไม่เรียกว่าเงินเฟ้อ เพราะภาวะเงินเฟ้อหมายถึง ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วๆ ไปแพงขึ้น ซึ่งเป็นไปได้ว่า อาจจะมีราคาสินค้าบางอย่างถูกลงด้วยในเวลาเดียวกัน แต่โดยรวม ๆ แล้ว หากราคาสินค้าและบริการโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น และเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องไปสักพักหนึ่ง ถึงจะเรียกได้ว่าเกิดภาวะเงินเฟ้อ โดยที่เราจำเป็นต้องรู้เรื่องเงินเฟ้อ ก็เพื่อที่จะใช้สำหรับวัดค่าครองชีพหรือมาตรฐานการครองชีพของเรา (ประชาชน) ว่าดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร


เงินเฟ้อเกิดจากอะไร?

ภาวะเงินเฟ้อเกิดขึ้นได้จากหลายๆ สาเหตุ แต่ส่วนใหญ่ในทางวิชาการมักจะแบ่งสาเหตุการเกิดเงินเฟ้อได้เป็น 2 สาเหตุหลักๆ ได้แก่ Cost-push inflation และ Demand-pull inflation

(1) เกิดจากต้นทุนในการผลิตสินค้าสูงขึ้น หรือที่เรียกว่า Cost-push inflation ซึ่งต้นทุนที่ใช้ในการผลิตสินค้าอาจจะสูงขึ้นได้จากทั้งส่วนผสมหรือวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า ค่าจ้างแรงงาน รวมทั้งค่าขนส่งสินค้า มีราคาแพงขึ้น เช่น กรณีของราคาน้ำมันที่แพงขึ้นก็เป็นตัวอย่างได้ หรือการที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน หรือเกิดน้ำท่วม ภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตเกษตรเสียหาย ราคาสินค้าเกษตรก็แพงขึ้น เป็นต้น หรือแม้แต่ในกรณีที่ค่าเงินบาทอ่อนลง จาก 35 บาท เป็น 40 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ซึ่งหมายถึงว่าเราต้องใช้เงินบาทจำนวนที่มากขึ้นเพื่อไปซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศมาผลิต) หรือแม้แต่การที่รัฐบาลเก็บภาษีเพิ่มขึ้น เช่น การเก็บภาษีบุหรี่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา หรืออาจเกิดจากผู้ผลิตต้องการกำไรที่สูงขึ้นจึงขึ้นราคาสินค้า ซึ่งไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม ก็จะมีส่วนทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นได้
ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ อาจจะเกิดขึ้นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ หรืออาจเกิดขึ้นพร้อมๆ กันก็ได้ ซึ่งหากเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน และทำให้ราคาสินค้าและบริการหลายๆ ชนิดแพงขึ้นพร้อมๆ กัน ความรุนแรงของเงินเฟ้อก็จะมากขึ้นด้วย

(2) เกิดจากความต้องการสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น หรือที่เรียกว่า Demand-pull inflation ส่วนใหญ่ในช่วงที่ปกติ ผู้ผลิตสินค้าส่วนใหญ่ก็ย่อมจะวางแผนการผลิตสินค้าโดยดูว่ามีคนต้องการซื้อสินค้าของเราเท่าไรในแต่ละช่วงเวลา ดังนั้น ปริมาณสินค้าที่มีในตลาดก็น่าจะอยู่ใกล้เคียงกับความต้องการซื้อสินค้า แต่หากความต้องการสินค้าและบริการสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่สินค้าและบริการที่เป็นที่ต้องการมีอยู่ในตลาดมีไม่พอ ก็ย่อมทำให้ราคาสินค้าและบริการแพงขึ้นได้ ซึ่งเมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น คนจะยิ่งรีบใช้เงินซื้อสินค้าและบริการมาตุนไว้ ก่อนที่ค่าเงินที่มีอยู่จะลดลง เพราะซื้อสินค้าได้น้อยลง ราคาสินค้าและบริการจะยิ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นไปกว่าเดิม เพราะคนจะยิ่งรีบใช้เงินที่มีอยู่
อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้ว หน่วยงานของทางการก็มักจะไม่ปล่อยให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง โดยทางการอาจจะเข้ามากำกับดูแลการปรับขึ้นราคาสินค้า ตัวอย่างเช่น การขอความร่วมมือให้ ขสมก. เลื่อนการขึ้นค่ารถเมล์ไปก่อน หรืออนุญาตให้ค่ารถเมล์ปรับขึ้นราคาได้บ้างนิดหน่อย เป็นต้น หรือในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย อาจใช้นโยบายการเงินเพื่อดูแลปัญหาเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนน้อยที่สุด

เงินเฟ้อวัดอย่างไร?


อัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยวัดโดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้ประกาศอัตราเงินเฟ้อเป็นประจำทุกเดือน โดยวิธีวัดอัตราเงินเฟ้อทำได้โดยการวัดการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาของสินค้าและบริการกลุ่มหนึ่ง ๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ซึ่งระดับราคาของสินค้าและบริการ ใช้ชื่อว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index-CPI) ตัวอย่างการคำนวณอัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2550 โดยเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีก่อน ซึ่งคือเดือนกุมภาพันธ์ 2549 เพื่อที่จะบอกว่าราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปแพงขึ้นหรือถูกลงเมื่อเปรียบเทียบกัน โดยดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ที่ประกาศโดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า อยู่ที่ 114.5 ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ปี 2549 อยู่ที่ 111.9

ดังนั้น
อัตราเงินเฟ้อของเดือนกุมภาพันธ์ 2550       frac{{(114.5 - 111.9)}}{{111.9}} times 100 = 2.3%     
ซึ่งอันนี้จะมีความหมายว่า ระดับราคาสินค้าและบริการโดยรวมมีราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน 2.3% หรือหากเรามีเงินจำนวนเท่าเดิมกับปีที่แล้ว ค่าของเงินที่เราถืออยู่จะด้อยค่าไป 2.3% ซึ่งทำให้ซื้อของได้น้อยลง 

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์









ถ้าเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก ๆ จะเกิดอะไรขึ้น?

โดยปกติแล้ว หากเงินเฟ้อสูงขึ้นนิด ๆ หน่อย ๆ (ปกติตามหลักวิชาการคือเงินเฟ้อที่สูงไม่เกิน 5% จะเรียกเงินเฟ้ออย่างอ่อน (Mild inflation) จะเป็นสิ่งที่ดีที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตมีการลงทุนขยายการผลิต และมีการจ้างงาน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจประเทศขยายตัวได้ดี ไม่มีผลเสียต่อเศรษฐกิจ แต่หากเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก ๆ และสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนยากที่จะคาดเดาได้ว่าเงินเฟ้อจะเป็นเท่าไร (Hyper inflation) จะมีผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะจะทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถวางแผนการผลิตและลงทุนได้ เพราะไม่รู้ว่าวัตถุดิบที่จะซื้อเข้ามาราคาจะเป็นเท่าไร จะตั้งราคาสินค้าเท่าไร เพื่อให้ยังมีกำไร ขณะที่ประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคเองก็ไม่แน่ใจว่าราคาสินค้าจะแพงขึ้นอีกหรือไม่ เงินจำนวนเท่าเดิมที่มีอยู่ในกระเป๋าก็ด้อยค่าลงไป เพราะข้าวของแพงขึ้น ทำให้ซื้อของได้น้อยลง ธุรกิจก็ขายของได้น้อยลง ซึ่งที่สุดแล้วจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศแย่ลงได้
 โดยสรุปคือ ภาวะเงินเฟ้อใช้เพื่อวัดค่าครองชีพของประชาชน ภาวะเงินเฟ้อจะเกิดขึ้นต่อเมื่อราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปสูงขึ้นต่อเนื่อง หากสูงขึ้นแล้วปรับลดลง จะไม่นับว่าเกิดภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเงินเฟ้อในระดับอ่อนๆ จะไม่สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ แต่หากเกิดภาวะเงินเฟ้อสูงๆ จะทำให้ค่าของเงินที่เรามีอยู่ด้อยค่าลงไป ทำให้ซื้อของได้น้อยลง ธุรกิจไม่สามารถผลิตหรือลงทุนได้เพราะมีความไม่แน่นอนเรื่องราคาอยู่สูง ซึ่งจะมีผลกระทบทางลบต่อระบบเศรษฐกิจในที่สุด